เปิด 3 มิชชั่นสุดล้ำ กับ การใช้เทคโนโลยีจัดการภัยพิบัติของ GISTDA “น้ำท่วม ไฟป่า ฝุ่นพิษ PM 2.5”

 


เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยนั้นต้องเจอกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น พายุ น้ำท่วม ไฟป่า ความแห้งแล้ง ปัญหาเหล่านี้นำมาซึ่งความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก ส่งผลกระทบทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศไทยเองนั้น ก็ได้เผชิญกับปัญหาน้ำมันรั่วบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกในทะเลมาบตาพุด จ.ระยอง ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นวงกว้าง จนนำมาสู่การตั้งคำถามว่าจะดีแค่ไหนหากประเทศไทยมีเทคโนโลยีที่สามารถช่วยบริหารจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก แสดงผลแบบเรียลไทม์ เพื่อใช้แก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

 

           สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า (GISTDA) หน่วยงานภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจในการพัฒนา และนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ตลอดจน องค์ความรู้ และนวัตกรรมใหม่ๆ มาสนับสนุนในการบูรณาการงานด้านข้อมูลเชิงลึกให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การบริหารจัดการ ทั้งการวางแผน การประเมิน การสำรวจ และการติดตาม เพื่อช่วยในการบรรเทาและฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในวันนี้จะพามาเจาะลึกอินไซต์ภารกิจสุดล้ำของ GISTDA กับการนำเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการภัยพิบัติ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

 





             บริหารจัดการวิกฤตไฟป่า – น้ำท่วม ผ่านดาวเทียมสำรวจทรัพยากร

             สถานการณ์ไฟป่าและสถานการณ์น้ำท่วม นับเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นประจำซึ่งประเทศไทยได้เผชิญปัญหาเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่องและเป็นเวลายาวนาน ทั้งเกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติและสาเหตุจากพฤติกรรมของมนุษย์ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน เพื่อลดความสูญเสียทั้งทางตรงและทางอ้อม ในเรื่องของการบริหารจัดการวิกฤตไฟป่า GISTDA ได้นำเทคโนโลยีดาวเทียมมาใช้ในการตรวจจับจุดความร้อน (Hotspot) โดยดึงข้อมูลจากข้อมูลดาวเทียมระบบ Terra/Aqua และ Suomi NPP เพื่อบริหารจัดการและติดตามสถานการณ์เป็นบริเวณกว้าง ประกอบกับการใช้เทคโนโลยี โดรนเวตาล ในการลาดตระเวนและยืนยันการเกิดไฟป่า นอกจากนี้ GISTDA ยังได้พัฒนาระบบ FAIPA เพื่อบูรณาการการประมวลผลและแสดงผลข้อมูลในระดับใกล้เคียงเวลาจริงที่สุด (Near Real Time) ผ่านทาง Web Application และ Mobile Application

 

             เฉกเช่นเดียวกับการบริหารจัดการน้ำท่วม GISTDA จัดทำระบบ Thailand Flood Monitoring System โดยดึงข้อมูลภาพจากดาวเทียมระบบเรดาร์ รวบรวมเป็นสถิติ วิเคราะห์ข้อมูลส่งต่อให้กับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบและที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้สนับสนุนการบริหารจัดการตามภารกิจ ทั้งด้านการวางแผน การติดตาม การประเมินสถานการณ์ และการฟื้นฟูความเสียหายต่อไป



             สร้างแพลตฟอร์ม ออนไลน์ ตรวจสอบคุณภาพอากาศอย่างแม่นยำ

             หนึ่งในปัญหาที่คนไทยประสบในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาและคงยังเผชิญกันอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน คือปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ได้สร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนในทุกระดับ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองขนาดใหญ่ ที่มีสภาพการจราจรคับคั่งและเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้าง รวมไปถึงพื้นที่ในชนบทห่างไกล ซึ่งมีการเผาเพื่อทำการเกษตร อย่างไรก็ดี GISTDA เล็งเห็นถึงความสำคัญในการบริหารจัดการและแก้ไขเรื่องปัญหาคุณภาพอากาศ PM 2.5 ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลที่นอกเหนือกจากค่าการตรวจวัดที่ได้จากสถานีตรวจวัดฯ GISTDA จึงบูรณาการความร่วมมือกับหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและ
ภาคการศึกษา พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่นำฐานข้อมูลของข้อมูลจากดาวเทียม ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลจากสถานีตรวจวัดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ
PM 2.5 เชิงพื้นที่ มาผสมผสานเชื่อมโยงกัน วิเคราะห์เป็นข้อมูลแสดงผลเป็นแผนที่ในภาพรวมของประเทศ เพื่อหาสาเหตุแหล่งกำเนิด รวมถึงการวางแผนป้องกัน ควบคุม ในระดับนโยบายต่อไป นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า เช็คฝุ่นไว้บริการสำหรับภาคประชาชนให้สามารถใช้งานได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้รับรู้ และเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว และถูกต้อง สามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันอันตรายจากมลภาวะทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ แอปพลิเคชันที่ชื่อว่า เช็คฝุ่น ถือเป็น 1 ใน 2 แอปพลิเคชันที่จัดทำโดยหน่วยงานในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันสามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้แล้ว




เทคโนโลยี Remote Sensing ... พลิกวิกฤตการณ์น้ำมันรั่วอ่าวไทย

             เหตุการณ์วิกฤตการณ์น้ำมันรั่วบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกในทะเลมาบตาพุด จ.ระยอง เมื่อ มกราคม  ได้สร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมไทย เป็นระยะเวลากว่าแรมเดือน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในบริเวณโดยรอบ รวมถึงส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่หยุดชะงัก ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระดมสรรพกำลังในการยับยั้งและแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าว GISTDA ในฐานะหน่วยงานที่สนับสนุนข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ได้ติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์อย่างใกล้ชิดผ่านเทคโนโลยีด้านการรับรู้ระยะไกล (Remote Sensing) ที่สามารถช่วยตรวจสอบคราบน้ำมันที่ลอยอยู่กลางทะเล นอกจากนี้ ยังได้ตรวจสอบร่วมกับข้อมูลจากสถานีเรดาร์ชายฝั่งของ GISTDA ซึ่งเป็นสถานีที่ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดกระแสน้ำ คลื่น และกระแสลม ในพื้นที่อ่าวระยอง ประมวลผลร่วมกับแบบจำลอง NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) ช่วยในการวิเคราะห์และคาดการณ์การแพร่กระจายตัวของคราบน้ำมันและพื้นที่ชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบ โดยข้อมูลที่ได้จะส่งต่อไปให้ศูนย์บัญชาการสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ปฏิบัติโดยมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูลและวางแผนการขจัดคราบน้ำมันเพื่อเร่งแก้ไขวิกฤตในครั้งนี้ได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที

 



             












อย่างไรก็ตาม GISTDA ยังคงมุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านอวกาศและภูมิสารสนเทศต่อไปเพื่อให้สามารถรองรับการบริหารจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที เพื่อลดความเสียหายที่เกิดต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของประเทศ

 

             ติดตามเรื่องราวสาระความรู้ เจาะลึกเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ได้ที่ GISTDA INSIGHT ผ่านทาง YouTube: GISTDA หรือติตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหวของ GISTDA ที่ Facebook : GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.